จุดเริ่มต้นของการดำเนินงานโครงการกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง นับหนึ่งจากวันที่ 30 สิงหาคม 2525 เมื่ออุทยานแห่งชาติภูกระดึงเสนอกองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ให้พิจารณานำระบบขนส่งขึ้น-ลงอุทยานฯ ภูกระดึง โดยใช้ยานพาหนะซึ่งเดินทางโดยสายเคเบิลมาใช้ ซึ่งก็มีการจัดทำรายละเอียดโครงการเพื่อเสนอประกอบการพิจารณาต่อมาในวันที่ 3 พฤษภาคม 2526 หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูกระดึง นายวิจารณ์ วิทยศักดิ์ (ในขณะนั้น) นำเสนอแนวคิดและรายละเอียดข้อมูลเบื้องต้น และวันที่ 11 ตุลาคม 2526 คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติมีมติเห็นชอบในหลักการ แต่ให้ศึกษาในรายละเอียดเกี่ยวกับความเหมาะสมทั้งในแง่ของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและในด้านเศรษฐกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว
การศึกษาและประเมินผลในช่วงเวลาที่ผ่านมามี 2 ครั้ง ประกอบด้วยในปี 2528 โดยคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น และกำหนดเส้นทางไว้ 3 แนวทางเผื่อเลือก คือ 1.เริ่มต้นจากบริเวณใกล้เคียงศูนย์บริการนักท่องเที่ยวศรีฐานและสิ้นสุดที่บริเวณหลังแป 2.เริ่มต้นบริเวณเขตอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ในบริเวณพื้นที่ป่าธรรมชาติและยังไม่มีการก่อสร้างถนนเข้าถึงพื้นที่ 3.เริ่มต้นบริเวณบ้านนาน้อย อ.ภูกระดึง จ.เลย สิ้นสุดบริเวณผาหมากดูก
ผลการศึกษาในครั้งนั้นสรุปว่า ทางเลือกที่ 1 เหมาะสมที่สุด เพราะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด และสะดวกต่อการดูแลควบคุมของอุทยานฯ โดยเสนอแนะว่าการสร้างกระเช้าไฟฟ้าเป็นทางเลือกหนึ่งที่สมควรดำเนินการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวทุกกลุ่มทุกวัยในการเดินทางขึ้น-ลงภูกระดึง สามารถใช้เป็นเครื่องมือจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่ขึ้นไปพักแรมบนยอดภูกระดึงและแก้ปัญหาความแออัดของนักท่องเที่ยว ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางกายภาพและชีวภาพ รวมทั้งการขนถ่ายขยะมากำจัด และนักท่องเที่ยวที่เจ็บป่วยหรือได้รับอุบัติเหตุลงสู่พื้นที่ตอนล่างได้อย่างรวดเร็ว
แต่รายงานดังกล่าวระบุว่า มีเสียงคัดค้านจากกลุ่มองค์กรอนุรักษ์ภาคประชาชนและคนในท้องถิ่นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มลูกหาบและผู้เสียผลประโยชน์จากการมีกระเช้าไฟฟ้า
ต่อมาในปี 2541 กรมป่าไม้ได้มอบหมายให้บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียร์ จำกัด ดำเนินการโครงการศึกษาเพื่อกำหนดรูปแบบและวิธีการจัดการด้านนันทนาการ/การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ณ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ผลการศึกษาและกำหนดรูปแบบเบื้องต้นของกระเช้าไฟฟ้าและองค์ประกอบต่างๆ ที่เหมาะสม
ผลการศึกษา วางเส้นทางไว้ 3 แนวทางเผื่อเลือกเช่นกัน คือ 1.เริ่มต้นบริเวณใกล้เคียงลานจอดรถสำรวจของศูนย์บริการนักท่องเที่ยวศรีฐานไปสิ้นสุดบริเวณหลังแปใกล้เคียงทางเดินเท้าขึ้น-ลงภูกระดึง มีความยาวตามแนวลาดชันประมาณ 3,675 เมตร 2.อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของภูกระดึง จุดเริ่มต้นอยู่ในบริเวณพื้นที่ป่าเบญจพรรณในเขตอุทยานแห่งชาติภูกระดึงไปยังจุดสิ้นสุดบริเวณทุ่งหญ้าใกล้เคียงบริเวณที่เรียกว่าคอกเมย มีความยาวตามแนวลาดชันประมาณ 4,175 เมตร 3.มีจุดเริ่มต้นบริเวณป่าเบญจพรรณใกล้เคียงหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติอีเลิศ ไปสิ้นสุดบริเวณทุ่งหญ้าบริเวณที่เรียกว่าช่องขอนมีความยาวตามแนวความลาดชันประมาณ 4,750 เมตร
ผลการศึกษาสรุปได้ว่า เส้นทางที่ 1 มีความเหมาะสมมากที่สุดเนื่องจากมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
รูปแบบกระเช้าไฟฟ้าเป็นรูปแบบเก๋ง ลักษณะการทำงานใช้สายเคเบิลขึงระหว่างสถานีต้นทางและสถานีปลายทาง ผู้โดยสารไม่สามารถเปิด-ปิดประตูได้ด้วยตนเองจนกว่าจะถึงสถานีปลายทาง จะต้องก่อสร้างเสารองรับ 16 จุด ในพื้นที่การก่อสร้าง 5,850 ตารางเมตร หรือ 3.16 ไร่
ต่อมาคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนจังหวัดเลย (กรอ.จังหวัดเลย) ได้ประชุมเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2545 โดยใช้ข้อมูลจากการศึกษาดังกล่าวประกอบ โดยคาดว่าการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงจะสามารถรองรับนักท่องเที่ยวเฉลี่ยได้วันละ 20,000 คน หรือปีละ 7 ล้านคน
จากนั้นในวันที่ 28 กันยายน 2548 คณะกรรมาธิการการท่องเที่ยวสภาผู้แทนราษฎร สรุปผลการพิจารณาศึกษาและมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมคือ เส้นทางก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงควรแยกออกจากทางเท้าที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากนักท่องเที่ยวบางประเภทยังต้องการอนุรักษ์และหวงแหนเส้นทางเดิมอยู่ ต้องมีการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในประเด็นที่สำคัญอีก 2 ประเด็น คือ 1.ความเข้มงวดในการปฏิบัติตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อมซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพดินและน้ำ 2.ปรับปรุงเส้นทางเดินเท้าควบคู่ไปกับการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้า เช่น การปูหินบริเวณทางขึ้นภูกระดึงเพื่อป้องกันไม่ให้เส้นทางเดินเท้าเกิดการขยายตัวต่อมาวันที่ 25 พฤศจิกายน 2553 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แจ้งให้อุทยานแห่งชาติภูกระดึงดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อเป็นข้อพิจารณาประกอบ คือ หากมีกระเช้าภูกระดึงจะดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวอำเภอภูเรือเชียงคานด่านซ้ายและนาแห้วเพิ่มขึ้นด้วย และการสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึงจะแยกนักท่องเที่ยวเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มวัยรุ่นที่ต้องการเดินขึ้นกับกลุ่มผู้สูงอายุที่เดินไม่ไหวก็ให้ขึ้นกระเช้าไฟฟ้า
นอกจากนั้น การประชุมโดยคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการพัฒนาพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวภูมิภาคในคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยววุฒิสภาเกี่ยวกับนโยบายการสร้างกระเช้าไฟฟ้า เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2554 ทางตัวแทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เสนอให้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม (EIA) เพราะภูกระดึงมีระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของไทยในปัจจุบัน โดยวิเคราะห์จุดอ่อนสร้างกระเช้าไฟฟ้า นักท่องเที่ยวที่ไม่แข็งแรงจะเดินทางไปเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ อย่างไร เพราะมีระยะทางห่างไกลกันมาก (2,9,12 กิโลเมตร ผานกแอ่น, ผาหล่มสัก, น้ำตกขุนพอง) บนพื้นที่ 60 ตารางกิโลเมตร แนะนำแหล่งท่องเที่ยวเกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซียมาใช้
จับตาดูว่าในยุครัฐบาลทหารจะสามารถผลักดันกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงได้สำเร็จหรือไม่ …

ข่าวจาก: msn.com