จากกรณีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) มีหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ขอหารือเกี่ยวกับการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทาง...
โดยกรณีนี้มีบุคคลภายนอกรวม 250 คน ยื่นฟ้อง สตช. และสำนักนายกรัฐมนตรีต่อศาลปกครองกลาง ขอให้ศาลพิพากษาให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดี เพื่อเยียวยาความเสียหายที่เกิดจากการสลายการชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 ซึ่งศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วมีคำพิพากษาให้ สตช. กับสำนักนายกรัฐมนตรี รับผิดชดใช้ค่าสินไหมแก่บุคคลดังกล่าว อย่างไรก็ดี สตช. และสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา และขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด
ต่อมา สตช. ได้ส่งข้อหารือถึงกรมบัญชีกลางทำนองว่า ภายหลังศาลปกครองกลางพิพากษาให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว สตช. และสำนักนายกรัฐมนตรีจะต้องร่วมกันแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 อย่างไร
โดยกรมบัญชีกลางตอบข้อหารือดังกล่าวว่า สตช. และสำนักนายกรัฐมนตรี จะต้องจัดตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดแก่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. ซึ่งเป็นผู้สั่งการ โดยผู้มีอำนาจร่วมกันแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ได้แก่ นายกรัฐมนตรี และ ผบ.ตร. ในฐานะหัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ดังกล่าวสังกัด
จากข้อเท็จจริงข้างต้น สตช. มีความเห็นว่า กรณีนี้สมควรแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดได้ แม้ว่าคดีจะอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด แต่สำนักนายกรัฐมนตรีเห็นว่า เมื่อคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด จึงยังไม่เป็นที่แน่นอนว่า สตช. และสำนักนายกรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมหรือไม่ กรณีนี้ สตช. จึงขอหารือว่า กรณีหน่วยงานของรัฐสองแห่งมีความเห็นแย้งกัน การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ อย่างไร
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้พิจารณาข้อหารือของ สตช. โดยมีผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี) ผู้แทนกระทรวงการคลัง (กรมบัญชีกลาง) และผู้แทน สตช. เป็นผู้ชี้แจงรายละเอียดแล้ว มีประเด็นต้องพิจารณาว่า กรณีที่บุคคลภายนอกได้ฟ้อง สตช. และสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นคดีต่อศาลปกครองกลางว่า เจ้าหน้าที่ในสังกัดหน่วยงานรัฐทั้งสองแห่งได้กระทำละเมิด และขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด ผู้มีอำนาจแต่งตั้งจะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี หรือไม่ หรือจะรอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเสียก่อน
เห็นว่า ข้อ 35 แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ กำหนดว่า เมื่อบุคคลภายนอกฟ้องหน่วยงานของรัฐเป็นคดีต่อศาลว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอก ให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดโดยไม่ชักช้า เว้นแต่จะได้มีการตั้งคณะกรรมการดังกล่าวไว้แล้ว ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมีเจตนารมณ์ให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดขึ้นทำหน้าที่สอบข้อเท็จจริง แล้วเสนอความเห็นต่อผู้มีอำนาจแต่งตั้งในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล เพื่อพิจารณาว่าความเสียหายตามที่บุคคลภายนอกกล่าวอ้างในคำฟ้องนั้น เกิดจากเจ้าหน้าที่ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ในกรณีที่เห็นว่า เจ้าหน้าที่มิได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ผู้มีอำนาจจะต้องดำเนินการตามข้อ 36 แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ เพื่อเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดเข้ามาเป็นคู่ความในคดี แต่หากเห็นว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ผู้มีอำนาจแต่งตั้งจะต้องดำเนินการตามข้อ 37 แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีโอกาสพ้นจากการเป็นคู่ความในคดี หากเจ้าหน้าที่นั้นได้ถูกฟ้องต่อศาลไว้ก่อนแล้ว
กรณีตามข้อหารือนี้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าบุคคลภายนอกผู้เสียหายได้ฟ้อง สตช. และสำนักนายกรัฐมนตรีต่อศาลปกครองกลางให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิด ผู้มีอำนาจจะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดตามข้อ 35 แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) เคยวินิจฉัยประเด็นปัญหาทำนองเดียวกันนี้ไว้แล้ว
อนึ่ง คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) มีข้อสังเกตว่า กรณีนี้แม้ว่าผู้มีอำนาจแต่งตั้งจะมิได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดตั้งแต่ต้น เมื่อมีผู้ฟ้อง สตช. และสำนักนายกรัฐมนตรี ต่อศาลปกครองกลางในปี 2552 จนขณะนี้ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาและคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดแล้วก็ตาม
แต่ผู้มีอำนาจแต่งตั้งก็ยังคงมีหน้าที่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดเพื่อพิจารณาข้อเท็จจริง แห่งกรณีตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าว โดยในชั้นนี้คณะกรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ยังไม่จำเป็นต้องพิจารณาประเด็นที่ว่าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะรับผิดหรือไม่ และจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินจำนวนเท่าใด แต่สมควรรอผลการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดให้ได้ข้อยุติเสียก่อน
หากในท้ายที่สุด สตช. และสำนักนายกรัฐมนตรี ต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดแล้ว คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดจะต้องผูกพันตามคำพิพากษาดังกล่าว และพิจารณาต่อไปว่า ความรับผิดของเจ้าหน้าที่จะมีหรือไม่ เพียงใด และจะต้องไล่เบี้ยกับเจ้าหน้าที่หรือไม่ และจะไล่เบี้ยให้ชดใช้เพียงใดตามข้อ 38 แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีนี้ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้ สตช. กับสำนักนายกรัฐมนตรี ชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 250 คน โดยเห็นพ้องกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่เคยชี้มูลความผิดนายสมชาย กับพวกว่าการสลายการชุมกลุ่มพันธมิตรกระทำเกินกว่าเหตุ (ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง) กำหนดค่าเสียหายให้กับผู้รับความเสียหายตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2555 เรื่อง ข้อเสนอแนะเพื่อส่งเสริมให้เยียวยาและฟื้นฟูเหยื่อ และผู้เสียหายตลอดจนผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงหรือความขัดแย้งทางการเมือง รวมเป็นเงิน 32,378,296 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 6 ต.ค. 2552 จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น ซึ่งปัจจุบัน สตช. และสำนักนายกรัฐมนตรี ได้อุทธรณ์คำพิพากษาอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด
อย่างไรก็ดีมติของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เห็นว่า พล.ต.อ.พัชรวาทไม่ผิด เพราะปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ นอกจากนี้ศาลปกครองสูงสุดยังเคยวินิจฉัยว่า มติ ก.ตร. ต่อกรณีการปฏิบัติหน้าที่ของ พล.ต.อ.พัชรวาท นั้นถูกต้อง จึงพิพากษาให้คืนตำแหน่งหน้าที่อีกด้วย
ข่าวจาก : สำนักข่าวอิศรา